ด้วงเจาะลำต้นประดู่ (Pradu stemborer)

Aristobia horridula

ชื่อสามัญ ด้วงเจาะลำต้นประดู่ (Pradu stemborer)

วงศ์ Cerambycidae

พืชอาหาร Pterocarpus macrocarpus, P. Indicus, Dalbergia cochinchinensis, Xylia xylocarpa

ความสำคัญ เกิดตำหนิในเนื้อไม้ ทำให้สูญเสียเนื้อไม้ไปส่วนหนึ่งเมื่อตัดฟันมาแปรรูป บริเวณที่ถูกด้วงเจาะเปลือกและเนื้อไม้จะแห้ง หากไม่มีการป้องกันไฟในฤดูแล้ง จะทำให้บริเวณที่ถูกด้วงเจาะทำลายเป็นแผลและจะถูกไฟไหม้ซ้ำในปีถัดไป

ชีวประวัติและนิสัย

พบตัวเต็มวัยในช่วงปลายฤดูร้อนถึงกลางฤดูฝน (ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนมิถุนายน) ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ตัวเต็มวัยอาศัยส่วนของเปลือกตามกิ่งอ่อนและลำต้นเป็นอาหารในกรณีที่มีการระบาดรุนแรงจะพบว่าเรือนยอดโกร๋นเนื่องจากการกัดกินของตัวเต็มวัย หลังจากตัวเต็มวัยจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะวางไข่บริเวณเปลือกส่วนของลำต้น จุดที่วางไข่จะสังเกตเห็นยางไม้สีแดงไหลเป็นทาง เนื่องจากก่อนวางไข่ตัวเมียจะกัดเปลือกให้เป็นหลุมสำหรับการวางไข่ ตัวเมียวางไข่ไว้หลายจุดๆ ละ หนึ่งฟอง เมื่อไข่ฟัก ตัวหนอนจะอาศัยเนื้อไม้เป็นอาหารจนใกล้ระยะดักแด้ (ในช่วงฤดูแล้ง) จะสังเกตเห็นขี้ขุยจำนวนมากตามโคนต้นประดู่ที่ถูกหนอนเจาะ ตลอดระยะเวลาประมาณ 10 เดือนที่อยู่ภายในลำต้น ตัวหนอนจะกัดทำลายส่วนของเนื้อไม้ไปในทิศทางต่างๆ เป็นรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.2 ซม. และเข้าดักแด้อยู่ภายในลำต้น จนเมื่อฝนตกและประดู่เริ่มแตกใบอ่อน ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้ ปากรูที่ตัวเต็มวัยออกมักอยู่ใกล้โคนต้นหรือตามง่ามกิ่ง ปากรูมีลักษณะกลม

ลักษณะทั่วไป

ตัวเต็มวัย ลำตัวสีน้ำตาลและมีจุดประสีขาวแซมอยู่ทั่วไป มีขนสีดำลักษณะคล้ายหนามแหลมยื่นออกด้านข้างๆ ละ 1 อัน บริเวณข้อต่อของหนวดปล้องที่ 2 และ 3 มีขนสีดำเป็นกระจุกคล้ายพู่ เห็นได้ชัดเจน ตัวผู้หนวดยาวกว่าลำตัว ส่วนตัวเมียหนวดจะสั้นกว่าหรือยาวเท่ากับลำตัว ส่วนท้องขิงตัวเมียยื่นพ้นปลายปีกเล็กน้อย ขนาดตัวเต็มวัยยาวประมาณ 2.5-3.7 ซม. กว้างประมาณ 0.8-1.3 ซม. ไข่ ลักษณะคล้ายกระสวย ด้านหนึ่งแหลม อีกด้านหนึ่งจะป้านกว่า สีขาวขุ่น เยื่อหุ้มเหนียว ยืดหยุ่นได้ ขนาด 2 x 5 มม. ตัวหนอน สีขาว ส่วนหัวโตกว่าลำตัว กรามสีน้ำตาล ตัวหนอนที่โตเต็มที่ส่วนหัวจะกว้างประมาณ 8 มม. ยาวประมาณ 3.5-5 ซม.

การป้องกันกำจัด

ในช่วงฤดูฝนเมื่อประดู่เริ่มแตกใบอ่อน จะพบตัวเต็มวัยอยู่บนเรือนยอด โดยสังเกตได้จากส่วนของกิ่งอ่อนที่ถูกตัวเต็มวัยกัดกินตกอยู่ใต้โคนต้น เกษตรกรควรฉีดพ่นสารเคมีในแปลงปลูกให้ทั่วเพื่อกำจัดตัวเต็มวัยที่จะจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ อันเป็นการช่วยลดจำนวนประชากรของแมลงชนิดนี้เข้ามาทำอันตรายและสร้างความเสียหายแก่แปลงปลูกประดู่ต่อไป สำหรับในกรณีที่ตัวหนอนเข้าทำลายแล้ว จะสังเกตุขี้ขุยที่ตัวหนอนขับออกมาที่บริเวณโคนต้นได้ง่าย ให้ใช้ เมทามิโดฟอส มาลาไธออน เพอเมทริน คลอไพริฟอส อัตรา 40-80 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายกำหนด ฉีดเข้าไปในบริเวณที่พบขี้ขุยที่ตัวหนอนขับออกมา


Last updated: 2000.07.18, Robert Cunningham